ลองเป็นนักบวชหญิง (2/2)

ต้นธูป เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เชื่อว่าวันออก
พรรษาเป็นวันที่ท่านเสด็จลงจากสวรรค์
หลังจากโปรดพระมารดา
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป...


มีบางอย่างที่ฉันมักจะทำตอนเป็นโยมแล้วเค้าไม่ให้ทำตอนเป็นแม่ชี ไม่ผิดศีลแต่ดูไม่เรียบร้อย เช่น นั่งไขว่ห้าง (อันนี้พอรู้ เพราะเคยเห็นพระนั่งไขว่ห้างแล้วดูขัดตาเหมือนกัน), ยืนกินน้ำ, แตะตัวผู้ชาย, ถ่ายรูปคู่กับผู้ชายถึงจะเป็นเพื่อนสาวก็ตาม  เพิ่งรู้ว่าเราติดการนั่งไขว่ห้างขนาดนี้ พอนั่งปั๊บ ขาไขว้ทันที พอรู้ตัวแล้วก็ต้องเอาขาลง  การมีสถานะนักบวชครอบอยู่ก็ดีตรงนี้ เราระมัดระวังมากขึ้น ตามใจตัวเองมากไม่ได้เหมือนเคย เป็นการฝึกที่ดีสำหรับพวก Self จัด ไม่สนใจใครอย่างเรา  ที่นี่เค้าให้ตักอาหารลงบาตรแบบบุฟเฟต์ แต่ตักครั้งเดียว ถ้าอร่อยก็ไปเอาไม่ได้อีก  ตอนเป็นโยม ฉันไม่ลังเลที่จะไปเอาเพิ่ม

เวลาฉัน แม่ชีฉันในบาตร เราชอบกินปนๆ กันในอ่างเดียวอยู่แล้ว เลยไม่ยาก  แม่ชีนั่งฉันในที่ไม่ค่อยสว่าง  บางทีก็มองไม่เห็นว่าตักอะไรอยู่ รู้ว่าอะไรตอนมันเข้าปากไปแล้ว เช่น เราได้กินข้าวเหนียวปนกับข้าวปนช็อกโกแลตในคำเดียว  เราชอบวิธีการกินของนักบวชที่กินเงียบๆ มีคุยกันบ้างแต่ไม่มาก  เราว่าพูดไปกินไปแล้วทำให้ไม่รู้รสอาหาร คือก็ได้สังสรรค์อ่ะนะ เช่น เราเคยไปกินข้าวกับแก๊งเพื่อนผู้หญิง ขณะที่กินร้านนี้อยู่ เค้าก็พูดถึงร้านอร่อยร้านอื่นๆ ด้วย  อาหารร้านนี้อร่อยแค่ไหนก็รู้ไม่เต็มที่ เพราะกำลังคิดถึงร้านโน้นอยู่

อีกอย่างที่เป็นตัวช่วยหรือความยากคือชุดขาว ฉันทำอะไรเร็วด้วยนิสัยใจร้อน ก็ต้องระวังไม่ให้ชุดเลอะ เพราะเลอะง่ายมาก จะนั่งก็ต้องดูก่อนว่าเปื้อนไหม ตอนเป็นโยมก็ไม่ค่อยดู นั่งเลย  เวลากิน ก็ต้องระว้งไม่ให้เลอะเสื้อหรือผ้าครอง เช่น พวกเส้นที่ดีดซอสใส่เสื้อได้  แล้วก็ต้องระวังไม่ให้กินคำใหญ่เกินไป เคี้ยวแล้วแก้มตุ่ยหรือเอาเข้าปากได้ไม่หมด

เราก็ยังไมเรียบร้อย สำรวมเป๊ะหรอก หลายคนพูดว่านี่สำรวมแล้วเหรอ เราก็บอกว่าเดิมระดับสิบ ลดลงมาระดับแปดก็เยอะแล้ว

อีกอย่างคือพยายามไม่คลุกคลีมาก Social ให้น้อย ก็ไม่ใบ้ แต่ไม่พยายาม Friendly มาก เพราะรู้สึกว่าเวลาเรามีน้อย และมันดูไม่สำรวมด้วย

มรรยาทอีกอย่างคือเรื่องจำนวนปีที่เป็นนักบวชมา ไม่เกี่ยวกับอายุ  คนพรรษามากกว่ามี Priority สูงกว่า  ถ้าสึกออกไปก็นับหนึ่งใหม่ แต่ของแม่ชีไม่เข้มเท่าของพระ  ทำให้บางแห่งก็มีปัญหาการอยู่ด้วยกันบ้างเหมือนกัน  ยิ่งผู้หญิงเป็นพวกจุ้จี้ สนใจรายละเอียด อยู่แล้ว

กิจวัตรประจำวัน


เราทำวัตรเช้าตอนตีสี่ครึ่ง สวดมนต์และฟังเทศน์ รวมประมาณชั่วโมง  จากนั้นพระหรือแม่ชีบางรูปก็ออกบิณฑบาต  ส่วนแม่ชีที่เหลือและโยมที่วัดช่วยกันทำครัว เพราะชาวบ้านใส่บาตรด้วยข้าวเหนียว มีกับข้าวและผลไม้บ้าง แต่ไม่พอสำหรับคนทั้งวัด (เรามีพระ ๕-๘ รูป แม่ชี ๖ และโยมอีก ๔) ฉันก็ได้ช่วยเตรียมอาหาร และได้ทำเองสองครั้ง ร้างจากครัวไปนานเพราะอยู่กรุงเทพไม่ได้ทำ  ตอนเรียนอยู่อเมริกาทำบ่อย ก็เลยพอถูไถ แต่ทำไอน้ำลวกมือ จึงได้รู้ว่ามีสมุนไพรบางอย่างที่เหมาะกับแผลน้ำร้อนลวกมาก จำชื่อไม่ได้ ขยี้ใบมาแปะแล้วเย็นทันที

เพราะที่นี่มีป่า ก็เลยมีฟืน ก็ใช้ฟืนหุงข้าว ต้มน้ำร้อน  แต่ฟืนไม่ร้อนเท่าแก๊สและทำให้หม้อดำ ก็ยังใช้แก๊สทำกับข้าวอยู่  ฉันรู้วิธีการก่อไฟจากฟืนที่นี่

ฉันเช้าตอนเจ็ดโมงครึ่ง  ไม่มีเพล ใครอยากฉันเพลก็ต้องเก็บอาหารเช้าไว้เอง  เราเก็บกล้วยหรือขนมเอา เพราะว่ามื้อเช้ากับเพลใกล้กันมาก  ก็ไม่หิวเท่าไหร่  บางทีกินเพราะว่าเผื่อหิวมากกว่า และเวลาที่กินได้มีจำกัด

เจอกันอีกทีตอนทำวัตรเย็น ห้าโมง สวดมนต์ ไม่มีเทศน์ แล้วก็พูดคุยกันเผื่อใครมีประเด็น  ฉันมักจะมาก่อนห้าโมงเพื่อฉันปานะ ส่วนมากชอบช็อกโกแลตร้อน บางทีก็มะขาม นมกล่องอื่นๆ

ก่อไฟเอง
การเก็บอารมณ์


การเก็บอารมณ์คือช่วงเวลาที่เราภาวนาในรูปแบบ (Formal practice) เช่น เดินจงกรม เท่านั้น ไม่ทำกิจวัตรหมู่กับคนอื่น ไม่เขียน ไม่อ่าน ไม่พูด แต่ก็ยังกินข้าว, อาบน้ำ, นอน ตามปกติ  ที่นี่พิเศษตรงที่เค้าจะเก็บตัวอยู่ไม่เจอใคร เอาอาหารไปกินในช่วงเวลานั้นเอง  ฉันเอามาม่า โจ้กคัพ เครื่องชงและผลไม้แห้งไป  โชคดีที่ต้มน้ำได้เพราะพระมีกาน้ำและทำกองหินสามก้อนเป็นเตาไว้แล้ว

ฉันไม่ได้ตั้งใจว่าจะเก็บอารมณ์ และไม่เคยทำมาก่อน  พระอาจารย์เคยบอกให้ลองดูแต่ก็ไม่ได้จัดสรรโอกาสให้ตัวเอง แต่พี่หยุม--โยมที่วัด ช่วยจัดสรรโอกาสให้  มีช่วงเวลาสามวันที่พระเกือบทั้งวัดจะไปสอบนักธรรมพอดี  ฉันก็หอบเต็นท์ ถุงนอน อาหาร สัมภาระขึ้นเขาไป  ที่พักเป็นศาลาที่เคยเป็นหอฉันของพระมาก่อน ยกพื้น มีฝาด้านหนึ่ง และมีพระพุทธรูปอยู่  ฉันอยู่ตรงนั้นตั้งแต่สายๆ ของวันที่ ๑๒ ถึงเช้ามืดวันที่ ๑๖

คืนแรกกลัวผีมาก เพราะศาลานี้อยู่ตรงทางสามแพร่ง มีต้นไม้ที่ป้ายแปะว่า "ตะเคียนทรี" อยู่  Memory ฉันก็สร้างความกลัวขึ้นมา แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่ามีกุฎิพระอยู่ตรงข้ามศาลา ท่านอยู่ได้ เราก็คงไม่เป็นไร และมีพระพุทธรูปอยู่  ผ่านคืนแรกไปได้ (ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำด้วย) โดยไม่มีอะไร ก็ทำให้โอเค แต่คืนสองก็ใจสั่นขึ้นมาอีก แต่ก็ใช้วิธีรู้เอาว่ากลัว

ผ่านไปวันครึ่ง ไม่เจอมนุษย์เลย ก็ได้ไส้เดือน มด ผีเสื้อ ลิง นก เป็นเพื่อน ตรงที่ๆ อยู่ นกร้องเพราะมากตอนเช้าและเย็น  ชอบตอนเช้าที่เริ่มจะสว่าง ฉันดับเทียน ปิดไฟฉาย แล้วดูบรรยากาศรอบๆ ค่อยๆ แสดงตัวออกมา  อากาศตอนเช้าปลอดโปร่ง

ปกติอยู่กรุงเทพ ฉันก็ไปไหนมาไหนคนเดียวเป็นส่วนใหญ่  อยู่เมืองนอกก็ชินกับการอยู่คนเดียว  แต่พบว่าการไม่เจอมนุษย์เป็นเรื่องท้าทายมาก ตอนที่มีคนเก็บเห็ดเดินผ่าน ฉันรู้สึกดีใจ

ส่วนใหญ่ฉันเดินจงกรม มีนั่งสร้างจังหวะบ้างแต่นั่งแล้วซึม ง่วง  วันแรกๆ เบื่อมาก เมื่อยตัวก็ก้มตัว บิดตัว เปลี่ยนอารมณ์ไป  ทำท่าไหว้พระอาทิตย์ ๑๐ รอบ (เอาเสื่อโยคะไปด้วย)  ผ่านไปวันกว่าๆ ก็เริ่มมีตารางชีวิตที่ลงตัว และมีบางขณะที่รู้สึกเบิกบาน วันสุดท้ายก็เริ่ม Count down ว่าเหลืออีกไม่กี่ชั่วโมงแล้ว ลงมาแล้วจะกินอะไรดี เบื่อมาม่าเต็มที  ไม่รู้สึกอยากคุยเท่าไหร่ แต่อยากอยู่ในหมู่มนุษย์

การเก็บอารมณ์ทำให้รู้สึกว่าการเป็นนักบวช Full time ยากกว่าที่คิดเอาไว้มาก เพราะต้องอยู่กับตัวเองจริงๆ  สงสัยว่าพระอาจารย์จะเบื่อบ้างไหม  ตอนออกจากเก็บอารมณ์ ท่านก็ว่าความเบื่อเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ไม่เที่ยง อย่างนั้นแหละ

เพราะว่าต้องก่อฟืนต้มน้ำ บางทีต้องจุดหลายครั้งถึงติด ทำให้รู้สึกว่าเราเสพติดความสบาย เสพติดไฟฟ้า  เมื่อมีไฟฟ้า อยากได้น้ำร้อนก็เสียบปลั๊ก  รู้สึกชัดว่าเราไม่เป็นอิสระ ยังพึ่งนั่นนี่เยอะ  พอไม่สะดวกสบาย ความอยากก็ไม่ได้รับการตอบสนองในทันที  ก็ดีเหมือนกัน

อีกอย่างคือรู้ซึ้งถึงความยากในการภาวนาคนเดียวเป็นเวลานานๆ  นึกถีงพระพุทธเจ้าตอนที่ท่านแสวงหาทางพ้นทุกข์  ซาบซึ้งในบุญคุณของท่านและของครูบาอาจารย์   รู้สึกว่าเพื่อนร่วมทางเดินนี้สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่ง  เดินคนเดียวไม่ไหว แรงไม่พอ

โชคดีมากที่ไปเก็บอารมณ์ช่วงนั้น เพราะเช้าวันที่ลงมา และต่อจากนั้นสองวัน ฝนตกไม่หยุด ทางเดินลงเขามีน้ำไหล กลายเป็นน้ำตก สนุกดีเวลาเดินลงมา  ถ้าเก็บอารมณ์ช่วงนั้นคงได้แต่เดินที่ศาลาและก่อไฟไม่ได้  พอลงมาถึงได้รู้ว่าที่ศาลาหอฉันที่เรานอนมา ๔ คืน มีคนเห็นนั่นเห็นนี่  ก็ดีที่ไม่รู้ตอนแรก

วันออกพรรษา


เป็นเรื่องที่ไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะอยู่วัดในวันนี้ในฐานะนักบวช  ชาวบ้านตักบาตรเทโว  พระและแม่่ชีเดินลงจากศาลา ชาวบ้านเรียงแถวกันอยู่ตรงถนน รอใส่บาตร  เราก็ได้เดินบิณฑบาตกับเขาด้วย อยู่เป็นคนสุดท้าย  ก็รู้สึกดี เป็นการบิณฑบาตครั้งสุดท้ายก่อนกลับเป็นโยม เค้าใส่ข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่  ใส่ข้าวต้มมัด มีบ้างที่ใส่เงินเหรียญ  จากนั้นก็ขึ้นมาที่ศาลา รับศีล ฟังเทศน์ ถวายอาหาร และให้พร  เป็นวันที่ชอบเพราะตอนเช้ามืดได้ฟังเทศน์จากหลวงพ่อคำเขียน และตอนช่วงที่ชาวบ้านมาทำบุญก็ได้ฟังจากพระอาจารย์ไพศาล เทศน์เรื่องใกล้ๆ กันว่า ให้อยู่ในธรรม มีศีล พอเพียงและไม่ฟุ่มเฟือย  เค้าจัดสำรับให้พระและแม่ชี  รู้สึกพิเศษมากที่มีสำรับเป็นของตัวเอง  วันพระทั่วไปชาวบ้านก็ทำแบบนี้ และพระไม่ออกบิณฑบาต

แล้วฉันก็อยู่ต่ออีกวันที่เป็นวันกฐินของวัด  เสร็จจากงานก็ลาสิกขา  คำลาสิกขาสั้นมาก แค่ประโยคเดียว กล่าวสามครั้ง กล่าวกับต้นไม้ก็ได้  แต่ฉันลากับท่านตุ้ม ท่านก็เทศน์ก่อนไปด้วยว่าแม่ชีก็ถือว่าเป็นนักบวชหญิงในพุทธศาสนา







Comments

Unknown said…
อนุโมทนากับประสบการณ์อันมีค่ายิ่ง...อ่านแล้วทำให้เรานึกกลับมาดูตัวเรา...หรือว่าเราอยู่ป่าใช้ชีวิตแบบบรรพชิตมาจนชิน...หนอ...บางแง่มุม...จึงนึกไม่ถึงว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของการมาอยู่วัดของญาติธรรม...แต่ก็ได้รับประสบการณ์ดีๆ มากมาย...นี่ล่ะนะ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า..."แม้เพียงราตรีเดียว...ก็น่าชม..."
jutapi said…
ค่ะ ดีใจเหมือนกันที่ทางวัดให้โอกาส...
Unknown said…
ยินดีด้วยจ้ะจุฑา กับช่วงเวลาที่สงบ. อิ่มเอม. ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์นะ รู้สึกอิ่มเอม ตื้นตัน พลอยยินดีด้วยจริงๆ
Unknown said…
This comment has been removed by the author.
Unknown said…
อยากทราบว่า ถ้าเราไม่เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต หรือ วัดภูหลงเลย แล้วอยากจะบวชชีแบบโกนหัว ทางวัดจะอนุญาตให้บวชมั๊ยคะ