Mount Kailash หรือเขาพระสุเมรุ |
ฉันลุ้นมากขนาดอธิษฐานด้วยการเป็นมังสวิรัติเพื่อขอให้ได้ใบ อานิสงส์คือพบว่าการเป็นมังฯไม่ยาก แล้วก็เป็นมาจนบัดนี้. ส่วนเรื่องเงิน มันเป็นที่ๆแพงเพราะเค้าไม่ให้คนต่างชาติไปไหนมาไหนเอง ต้องมีไกด์และคนขับรถ และรถที่ว่าก็เป็น Land Cruiser 4500 cc อีกต่างหาก นั่งรถบัสนอกลาซาไม่ได้ เค้ากลัวเราเห็นอะไรต่ออะไรมากไป ตามถนนระหว่างเมืองมี checkpoint เป็นระยะๆ ดู Permits ดู Passports และดูบัตรประจำตัวและใบขับขี่คนขับและไกด์ เค้ามีกฎประหลาดเรื่องระยะเวลาระหว่าง checkpoint ว่าต้องไม่เร็วเกินไป ถ้าเร็วไปก็ต้องหน่วงเวลาด้วยการจอดข้างทาง
ฉันไม่เคยต้องอยู่ที่สูงขนาด 3000+ m. มาก่อน จุดที่สูงที่สุดที่เราไปประมาณ 5600 ม. เพิ่งเข้าใจว่าทำไมนักปีนเขาถึงเดินได้ช้าๆ ออกซิเจนบางมากจนหัวใจต้องทำงานหนัก เดินขึ้นบันไดชั้นเดียวก็เหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน เพิ่งเข้าใจคำว่าหัวใจจะขาดว่ามันเป็นยังไง นอกจากนี้แล้วอากาศยังแห้งมาก แห้งจนข้อตามนิ้วเริ่มเลือดไหล ขนาดทาโลชั่นแล้ว และปลายจมูกก็แห้งจากการเช็ดเพราะน้ำมูกไหล ขนาดไม่คอยได้อาบน้ำช่วงหลังๆ เพราะไม่มีน้ำให้อาบที่เกสต์เฮาส์ ถึงมีก็คงไม่อยากอาบ เพราะในห้องไม่มี Heater อาบเสร็จก็สั่นอยู่ดี คนทิเบตเค้าอาบน้ำอาทิตย์ละครั้ง เค้าก็มีลุคที่ดูเซอร์และโสกันแทบทุกคน ยกเว้นสาวๆ ในเมืองใหญ่
เราค้างที่คุนหมิง 1 คืนทั้งขาไปและกลับ ตอนแรกรู้สึกเสียเวลาแต่ปรากฎว่าเป็นเรื่องดีที่ทำ เพราะช่วยให้ร่างกายค่อยปรับความสูงเพราะคุนหมิงก็สูง 1900 m.เข้าไปแล้ว
หนึ่งในเรื่องที่ประทับใจที่สุดเกี่ยวกับทิเบตคือความเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารเช้า เค้ามีแป้งบาร์เลย์คั่ว (เรียกว่าซัมป้า) ผสมชาเนย ใส่น้ำตาล เอามือคลุกๆ ปั้นๆ ให้เป็นก้อนๆ แล้วก็กิน ชาเนยคือชาที่ใส่เนยทำจากนมจามรี ซัมป้าเป็นอาหารพื้นฐานของเค้า นอกจากนี้ก็มีผลิตภัณฑ์จามรีทั้งหลาย เช่น เนย โยเกิต เนื้อ เค้าไม่มีผัก ผลไม้ในอาหารดั้งเดิมมากนัก เพราะปลูกไม่ได้ มีที่ๆ ปลูกได้ไม่มากและอาหารที่เค้ากินมันให้ความอบอุ่นมากกว่า อาหารที่แปลกอีกอย่างคือชาใส่เกลือ เป็นวิธีเพิ่มความชุ่มชื้นและเพิ่มไอโอดีน
Yamdrok Lake |
สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับฉันคือเค้าเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหารย์มาก เช่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นภูเขา ทะเลสาบซึ่งเค้าจะไม่ตกปลาจากมัน ไม่ลงไปเล่นน้ำ (ตักมาอาบแบบชำระบาปได้) หากจะเอาปลาจากทะเลสาบ ก็เป็นปลาที่มาตายบนฝั่ง เค้าเชื่อขนาดว่าปลาที่มาจากทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคได้ จริงๆ แล้วมันก็เป็นอุบายที่ดีที่ให้เราเคารพธรรมชาตินะ ของเราเค้าว่าก็มีเขาคิชฌกูฎ ซึ่งบรรยากาศดูพลุกพล่านเกินกว่าจะให้เกิดความรู้สึก Holy ใดๆ
แต่ภูเขา ทะเลสาบที่นี่มันก็ใหญ่โตจนบีบให้คนรู้สึกตัวเล็กๆ จนต้องยกให้ธรรมชาติเหนือกว่าจริงๆ แล้วธรรมชาติก็แสดงพลังด้วยอากาศที่ผันผวนด้วย เช่น ฝนตก แดดออก หิมะตก สามารถเกิดขึ้นได้ในวันเดียวกัน แล้วเราจะไม่รู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตัวในสถานที่เหล่านี้ได้อย่างไร
เค้ามีความเชื่อเรื่องการจาริกไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขาไกรลาส เราเดินรอบเขาก็จะแย่แล้ว แต่บางคนเค้ากราบอัษฎางคประดิษฐ์ เท้าไปอยู่ที่มือที่แตะพื้นก่อนหน้า ไม่ว่าพื้นจะเละแค่ไหน มีหิน มีฝุ่น ก็กราบ ฉันเห็นแล้วตื้นตันใจมากๆ เห็นศรัทธาคนอื่นก็มาเพิ่มศรัทธาเราเหมือนกัน การเรียนหนังสือมากๆ ทำให้ฉันเชื่อตัวเองมากเกินไป
ฉันชอบที่เค้าภาวนากันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เดินไปหมุนกงล้อมนตร์ไป นับลูกประคำ สวดมนต์ ถามเค้าว่าเชื่อว่าคนธรรมดาจะภาวนาจนหลุดพ้น (ฉันใช้คำว่า Nirvana) ในชาตินี้ได้ไหม เค้าบอกว่าได้ถ้าเป็นพระ
อีกอย่างคือเค้าเชื่อเรื่องทำบุญ เชื่อเรื่องกรรม แต่ต่างจากคนไทยนิดหน่อย เช่น เค้าไม่กินกุ้งตัวเล็กๆ เพราะถือว่าต้องฆ่าสัตว์หลายตัว กินจามรีหรือแกะแทนดีกว่า ตัวใหญ่ ตายชีวิตเดียว ที่ทิเบตมีไส้เดือนชนิดหนึ่ง ทางยาเรียกถั่งเช่า แพงเหมือนทอง แต่เดิมก็เก็บเอามาใช้เป็นยา ตอนนี้แพงมากเพราะปั่นราคากัน ก็เก็บขาย (ต้องไปเก็บบนเขา) คนที่เก็บทำงานเฉพาะหน้าหนาว ส่วนฤดูอื่นก็ไปอยู่ที่ลาซา งานประจำคือกราบรอบวัดโจคัง ซึ่งถือเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในทิเบต เพื่อไถ่บาปหรือสร้างบุญเพิ่ม หักลบกับบาปที่ฆ่าหนอน
ธงมนต์ |
เราได้ไกด์และคนขับรถเป็นคนทิเบต อายุไม่เกิน ๓๐ แต่หน้าล้ำไปแล้วเพราะที่นั่นแดดแรง อากาศแห้ง เค้าเห็นหนังสือเกี่ยวกับทิเบตที่เป็นภาษาไทยที่เราเอาไป เล่มนึงมีรูปท่านดาไลลามะหลายรูป เค้าบอกว่าอย่าให้ตำรวจจีนเห็นนะ ขนาดหนังสือ Lonely Planet ที่มี Foreword โดยท่าน ยังถูก banned คนทิเบตมีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปหลังจากคนจีนเข้ามา เช่น ไม่สามารถมีพาสปอร์ตได้ เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ จะบวชเป็นพระต้องขออนุญาติ หากขอดู ID แล้วไม่มีก็ติดคุก ที่ลาซามีกล้องวงจรปิดรอบเมือง
คนทิเบตเริ่มเสพติดมือถือเพราะมีคลื่นมือถือทุกที่ ขนาดเขาไกรลาสก็มี เดิมเค้าปลูกผักน้อยมาก ปลูกบาร์เลย์ เลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน พอรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเข้ามา ก็ยึดที่ดินไป งานของคนเลยเปลี่ยนไป เราเริ่มเห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ตอนนี้เรายังเห็นคนใช้ม้า ใช้จามรีไถที่นา แต่ก็เห็นรถแทรกเตอร์เข้ามา อีกไม่กี่ปีก็คงเหมือนเมืองไทยที่ไม่มีควายไถนาให้เห็น เพื่อนบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนทิเบตไม่ใช่จีน แต่เป็นวัตถุนิยม
มีคนถามว่าทำไมต้องไปไกรลาส เห็นอ.กฤษดาวรรณแห่งมูลนิธิพันดาราไปเลยอยากไปบ้างมั้ง
Comments