เบื้องหลังภาพถ่ายสวย ๆ ที่ทิเบต

พอโพสต์รูปที่ถ่ายที่ทิเบตขึ้น Facebook ก็พบว่ามันเป็นที่ๆ คนอยากไปกันเยอะ  มีคนเข้าไปดูแล้วชอบมากกว่าที่อื่นๆ ที่เคยโพสต์    บอกว่าสวยมาก  ฉันก็เห็นด้วยว่าสวย แต่ก็มีความลำบากหลายอย่างเบื้องหลังความสวยของสถานที่

อย่างแรกคือทิเบตเป็นพื้นที่กว้างใหญ่มาก ใช้เวลาเดินทางมากจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ฉันถึงกับเตรียมไฟล์ MP3 ไว้เผื่อฟัง เรานั่งรถ ๒ วันเต็มจากเขาไกรลาสกลับมาลาซา (ขาไปโอเคเพราะมีจุดให้หยุด) ระยะทางประมาณเชียงใหม่ไปนราธิวาส ไม่มีไฟลท์ ต้องนั่งรถอย่างเดียว

ระหว่างทางมีส้วมหลุมถ้าโชคดี  ปั๊มน้ำมันไม่มีห้องน้ำ  ไม่งั้นก็ต้องใช้ผ้าถุงที่เตรียมมาสำหรับกำบัง เพราะไม่มีต้นไม้หรืออย่างอื่นให้หลบได้  มีบางจุดที่ลงไปในทางระบายน้ำข้างทางได้  เป็นหนแรกอีกเช่นกันที่ฉันได้ใช้ผ้าถุงเพื่อการนี้ ขนาดที่อินเดียฉันก็ไม่ได้ใช้

ทิเบตเป็นที่ที่ฉันกินยาเยอะที่สุด ปกติพกยาตอนเดินทางไปเผื่อแต่ไม่ได้ใช้  คราวนี้กิน Diamox ตั้งแต่ยังไม่ถึงทิเบต เค้าให้กินก่อน ๒๔ ชม. เพื่อให้ร่างกายปรับความสูงด้วยการขยายหลอดเลือด  Side effects ของยานี้คือทำให้ฉี่บ่อย ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าชา ริมฝีปากก็ชาด้วยนิดหน่อย  พอไปถึงที่ลาซา เราก็เปลี่ยนไปกินยาจีนแทน ชื่อ หงจิ่งเทียน ดีกว่าเพราะไม่มี Side effects ที่รู้สึกได้  ยานี้เค้าเขียนที่กล่องว่าสำหรับทหาร  หลัง ๆ มีหงจิ่งเทียนเหลือน้อยแต่ Diamox เยอะ ก็กิน Diamox ซะเป็นส่วนใหญ่

Glacier อยู่ด้านหลัง
นอกจากนี้ ก็มียาแก้ปวดหัว คือ Ibuprofin  เพราะอาการของการแพ้ความสูงคือปวดหัว  มีคนในทริปคนหนึ่งเป็นมากขนาดมีอาการคล้ายปอดบวม  โชคดีที่หายก่อนไปเดินไกรลาส

แล้วก็กินวิตามินซีสำหรับป้องกันเลือดกำเดาไหล   เพื่อนในทริปก็เป็นท้องอืด เพราะนั่งในรถมากไม่ได้ขยับ ก็ให้กินขมิ้นชัน ของที่เอาไปทุกอย่างได้ใช้ เช่น พลาสเตอร์ปิดแผล เข็มกลัดซ่อนปลาย ถุงซิปล็อก ช้อนและแก้วน้ำสังกะสี มีดพก เข็มเย็บผ้าและด้าย กระดาษทิชชู ทิชชูเปียก ((จำเป็นมากในที่ๆ ไม่มีน้ำล้างหน้า) แอลกอฮอล์เช็ดมือ ถุงนอน ทริปนี้เป็นทริปแรกที่ฉันเอาน้ำพริก อาหารแห้งไป

นอกเมืองใหญ่ที่ทิเบต ไม่มีน้ำประปา ทั้ง ๆ ที่เค้ามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติเยอะ เช่น ทะเลสาบหรือธารน้ำแข็ง  ที่ Shigatse ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของทิเบต  ในบริเวณเมืองเก่า มีหลุมน้ำบาดาลอยู่นอกบ้าน เค้าต้องล็อกกุญแจไว้  ฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ต่อท่อเข้าบ้านจะได้สะดวกหน้าหนาว  แต่เค้าคงชินแบบนั้น  หรืออาจจะชินที่ไม่ใช้น้ำมากอย่างเราก็ได้

โรงแรมที่เราพักที่ Darchen มีส้วมในห้อง แต่ไม่มีน้ำให้ราด  เค้าให้เราถ่ายเบาอย่างเดียว  แต่เค้าก็เอาน้ำมาให้ถังหนึ่ง ไว้ล้างหน้า แปรงฟัน  ชอบทิเบตที่มีน้ำร้อนให้กินตลอด  เราแทบไม่ต้องซื้อน้ำดื่มขวดเลย...

Mandala ทำจากทรายผสมสีโรยลงบนพื้น เนื่องในเทศกาล
วิสาขบูชา (Saga Dawa) เสร็จงานก็กวาดแล้วเอาทรายไปโปรย
สอนเรื่องอนิจจัง และพระเองก็ได้สมาธิเวลาทำ
เกสต์เฮาส์หลาย ๆ ที่นอกเมืองใหญ่มีส้วมหลุมแยกห่างจากห้องพัก ให้ใช้ร่วมกัน  บางที่เช่นแถวไกรลาสก็แทบเป็นส้วม open air มีกำแพงสูงประมาณเอว ให้พอบังตัวมิดเวลานั่ง แต่บังลมไม่ค่อยได้เพราะลมแรง  รู้สึกแปลกที่ต้องใส่เครื่องหนาวเต็มยศเพื่อไปเข้าส้วม  แล้วแถมยังมีลมเย็นพัดผ่านอีก บางทีก็ต้องระวังหมาเวลาไปเข้าห้องน้ำกลางคืน  หมาทิเบตตัวโต  บางตัวเป็นหมาจรจัดที่หิวโซ   สำหรับคนที่ฉี่ตอนกลางคืนหลายครั้งอย่างฉัน ต้องอดทนให้ไม่เกินคืนละ ๑ ครั้ง  เรื่องส้วมนี่เล่าไม่รู้จบมากที่ทิเบต

นอกจากไม่มีน้ำใช้ เกสต์เฮาส์นอกเมืองก็ไม่มีไฟฟ้า  บางที่มีเครื่องปั่นไฟใช้เปิดตอนกลางคืน  ไฟฉายจึงจำเป็นมาก  ถ้าอยากจะชาร์จอะไร ก็ต้องไปขอเค้าชาร์จที่ห้องนั่งเล่นรวม ซึ่งมีเตาต้มน้ำที่ช่วยทำให้ห้องอุ่นมาก  อุ่นกว่าห้องนอนเราเยอะ

ฉันว่ามัน Ironic ดีที่มีคลื่นโทรศัพท์มือถือแทบทุกที่ๆ ทิเบต คลื่นแรงด้วย มีรถไฟความเร็วสูงจากปักกิ่งมาลาซา  กำลังจะเพิ่มจากลาซามา Shigatse แต่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำก็อก

อาหารเค้าไม่ค่อยมีผักและผลไม้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปลูกเองไม่ได้ ต้องส่งมาจากจีน และอีกอย่างหนึ่งคือผักและผลไม้ทำให้ร่างกายเย็นเกินไป  อากาศหนาวของเขาต้องการอาหารที่ไขมันเยอะ ๆ ทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น ชานมหรือเนื้อจามรี เนื้อแกะ  พอเราไม่ได้กินผักผลไม้เท่าไหร่และร่างกายไม่ขยับ เราก็ท้องผูกกันบ้าง ต้องอาศัยตัวช่วย เช่น โยเกิต หรือชามะขามแขกที่เราเตรียมไป

อ้อ...มีอะไรหลายอย่างในวัฒนธรรมเค้าที่ฉันว่าแปลกดี เช่น เค้ามีธรรมเนียมให้พี่น้องผู้ชายแชร์ภรรยากัน คือ มีเมีย ๑ คนในบ้าน  เพื่อนบอกว่าเป็นวิธีในการควบคุมประชากร เพราะผู้หญิงใช้เวลาอย่างน้อย ๒ ปีในการตั้งท้องและให้นมทารก  นอกจากนี้แล้วการให้ลูกชายไปบวช ๑ คนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง  พื้นที่ ๆ แห้งแล้งที่อาหารจำกัดเช่นนี้ ฉันว่าการควบคุมประชากรเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ฉันว่ายังเป็นการรักษาครอบครัวให้มีขนาดใหญ่ เพราะน่าจะต้องใช้แรงงานเยอะสำหรับสะสมอาหารและเชื้อเพลิงไว้ใช้หน้าหนาว และเพื่อป้องกันตัวเองด้วย ช่วยเก็บสมบัติให้เป็นก้อน ไม่ต้องแบ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้ลูกชาย

กลมๆ มีรูปนี่ทำจากเนยจามรี 
เพราะที่ทิเบตแทบไม่มีต้นไม้ เค้าใช้ขี้จามรีเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ตากแห้งที่รั้ว แล้วกองเก็บไว้ เหมือนที่อินเดียใช้ขี้วัว

ที่ทิเบต เมื่อมีการจัดการศพ ๓ แบบ  แบบที่ ๑ เรียกว่า ฝังบนฟ้า (Sky Burial) สำหรับคนตายธรรมดา เค้าจะสับศพให้เป็นชิ้นๆ แล้วก็ให้แร้งมากิน ส่วนกระดูกก็เอามาป่น ให้ปลากินอีกที ถือว่าเป็นการทำบุญครั้งสุดท้าย; แบบที่ ๒ สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงตาย หรือฆ่าตัวตาย (ไม่แน่ใจว่ารวมถูกฆ่าด้วยหรือเปล่า) ก็จะเผา; แบบที่ ๓ สำหรับเด็กเล็กๆ เนื้อยังอ่อน ก็จะฝังในน้ำ (Water Burial) สับเป็นชิ้นๆ ให้ปลากิน  ฉันชอบไอเดียเขา ช่วยคนเป็นให้เห็นความตายและเตือนคนเป็นเกี่ยวกับชีวิตที่เหลืออยู่

เพื่อนฉันอยากดู Sky Burial มาก แต่เราไม่มีเวลา ต้องมาเช้า ๆ ตีห้า และเราไม่แน่ใจว่าเค้าให้คนนอกดูหรือเปล่า

เคยอ่านเจอใน Seven Years in Tibet ว่าคนทิเบตเชื่อว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป  ขณะที่ขุดหลุมเพื่อก่อสร้าง เจอหนอน ยังพยายามช่วยหนอนออกมาเลย  แต่ด้วยภูมิอากาศ ก็ยังต้องอาศัยเนื้อจามรีเป็นอาหาร  จามรี (Yak เป็นตัวผู้ ส่วน Di เป็นตัวเมีย) มีประโยชน์มาก ขนของก็ได้ มันปีนเขาเก่ง ทนหนาวได้ ตัวเมียให้นมเอามาทำเนย ทำโยเกิต (ยังไม่เคยได้กินนมจามรีเลย รสชาติหรือกลิ่นอาจไม่เหมาะกับการกินตรงๆ) เอามาปั้นเป็นรุปเพื่อบูชาพระก็ได้  ขนของมันก็เอามาทอเป็นผีน เป็นกันสาดเพื่อกันลมกันแดด เป็นพรมปูพื้น เครื่องนุ่งห่ม  เค้าบอกว่าจามรีกินหญ้าและอาจกินหนอนดินที่เป็นถั่งเช่าด้วย  กินเนื้อมันก็เหมือนได้กินถั่งเช่าที่ราคาแพงๆ

Kumbum Stupa ที่ Paklhor Monastery
วัดนี้ไม่ถูกทำลายช่วง
Cultural Revolution

ถามว่าทำไมจีนถึงอยากได้ทิเบต ก็เพราะที่นี่มีแร่ธาตุมากมาย เช่น ทองคำ  คนขับรถทิเบตบอกว่าตอนแรกนักสำรวจจีนมาแบบนักท่องเที่ยว เอาเครื่องมือมาวัดว่าตรงไหนมีแร่ธาตุ พบว่าแถว ๆ วัดมักจะเป็นจุดที่มีแร่ธาตุมาก  ฉันว่าฟังแล้ว make sense เพราะตรงนั้นน่าจะมีพลังงานมากกว่าที่อื่นๆ  คนโบราณน่าจะมีญาณหยั่งรู้ เค้าเลยสร้างวัดตรงนั้น

คนทิเบตเชื่อเรื่องการกลับมาเกิดใหม่ โดยเฉพาะของพระตำแหน่งสูง เช่น Dalai Lama (Dalai เป็นภาษามองโกลแปลว่ามหาสมุทร ชื่อตำแหน่งแปลว่ามหาสมุทรแห่งความกรุณา), Panchen Lama, Rinpoche  เค้าเชื่อว่าท่านดาไลลามะเป็นพระโพธิสัตว์ (Avalokiteshvara)  คนขับทิเบตบอกว่าตราบใดที่ท่านดาไลลามะองค์นี้ยังมีชีวิตอยู่ คนทิเบตก็ยังมีความหวัง (ที่จะเป็นอิสระจากจีน) แต่ถ้าท่านไม่อยู่ ก็คงไม่... Martin Scorsese ทำหนังเรื่อง Kundun (เป็นชื่อที่คนใกล้ตัวเรียกท่านดาไลลามะ) เป็นประวัติของท่านตั้งแต่พบตัวจนถึงตอนที่ต้องลี้ภัยไปอินเดีย หนังสวยมากก  ขนาดทำตั้งแต่ปี 1997  ดูได้จาก YouTube ด้านล่าง หวังว่าคงครบทุกตอน



เคยสงสัยว่าทำไมต้องไปค้นตัวพระสำคัญที่กลับชาติมาเกิด  อ่านประวัติท่าน Chögyam Trungpa
เรื่อง เลือดทิเบต (Born in Tibet)  ก็เข้าใจว่าเป็นการสืบทอดธรรมะและการภาวนา ในนั้นเค้าพูดถึงคนที่กลับชาติมาเกิดเป็นพระที่ยังเด็ก  ชาตินี้ไปเรียนธรรมะจากพระที่อาจเป็นลูกศิษย์ตัวเองในชาติก่อน คือสอนกลับไปกลับมาแบบนี้

Comments