Diagram ประกอบการอธิบาย |
มุมมองหลักๆ ที่ได้มาคือเรื่องของความกรุณา (Kindness) ฉันเป็นคนขี้รำคาญ ขี้โมโห แล้วที่ไหนๆ ก็มักบอกให้เจริญเมตตา แต่ฉันพบว่ามันเป็นเรื่องยาก และ borderline to fake เพราะฉันไม่เห็นว่าคนๆ นั้นหรือสิ่งๆ นั้นน่าเมตตาให้ที่ตรงไหน แต่ลป.สอนให้เห็นถึงความทุกข์ที่มีอยู่ในคนๆ นั้น คล้ายว่าทุกข์มากจนล้นออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำที่ไม่น่ารัก พอเห็นจริงๆ ว่าอีกฝ่ายทุกข์อยู่ ความกรุณาก็จะมาเอง อันนี้คงรวมถึงกับตัวเองด้วย ว่าถ้าเราเห็นว่าเวลาเราโกรธแล้วมันเป็นทุกข์ ก็จะกรุณากับตัวเองแล้วเย็นเอง ท่านใช้คำว่า Suffering หรือ Ill being สำหรับความทุกข์
เรื่องที่สองคือการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) และ"วาจาแห่งรัก" (Loving speech) แปลเป็นไทยฟังดูแล้วเลี่ยนไปนิดหน่อย ภาษาอังกฤษดีกว่า ท่านบอกว่าจุดประสงค์หลักของการฟังอย่างลึกซึ้งคือการช่วยบรรเทาความทุกข์ให้คนๆ นั้น แต่ถ้าอารมณ์เขาเริ่มกระทบเรา จนเราไม่สามารถฟังอย่างลึกซึ้งต่อไปได้ ท่านก็บอกให้หยุดแล้วบอกคนนั้นว่าเอาไว้วันหลังค่อยคุยกันต่อ
ที่นี่เค้าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือภาวนาหลัก ("หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันหายใจเข้า หายใจออก ฉันรู้ว่าฉันหายใจออก") ฉันพบว่าฉันอึดอัดเวลาดูลม พระอาจารย์ฉันบอกว่าฉันเคร่งเครียดเกินไป เดินจงกรมก็ตั้งใจมาก ฉันก็บอกว่า ก็รู้นะว่าไม่เป็นธรรมชาติ เดินจงกรม ๑ ชั่วโมงจะตายให้ได้ แต่เดินในห้างหรือใน Museum ๒-๓ ชั่วโมงก็ได้ ตอนนี้ก็เลยเป็นแบบฝึกหัดว่าภาวนายังไงให้สบาย ไม่เคร่งเครียด
เรื่องความสบาย ความผ่อนคลายในการภาวนานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีผู้หญิงคนหนึ่งถามเรื่องการปฎิบัติของตัวเองว่ามีสภาวะที่ดีๆ บางอย่างเกิดขึ้นแค่ ๒ ครั้ง แล้วไม่เกิดขึ้นอีก ทำยังไงดี ลป.บอกว่าถ้าภาวนาถูกแล้วต้องมีความสุข ถ้าไม่สุขแปลว่าผิด ความสุขเกิดขึ้นทันทีที่เริ่มหายใจเข้า กลางลมหายใจ และปลายลมหายใจ เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่าพระธรรมงดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ไม่ใช่ว่าการภาวนาเป็นวิธีการ (Means) เพื่อให้ถึงจุดหมาย (End) ที่เป็นความสุข
อีกอย่างหนึ่งที่จะไปลองกับห้องเรียนตัวเองคือการหยุดทุกๆ ๒๐ นาทีด้วยเสียงระฆังจากโปรแกรม Mindful clock ที่ฉันมีอยู่แล้วในคอมพ์ เพื่อให้เด็กได้ตามลมหายใจสัก ๓ ครั้ง เรียกตัวเองกลับมา มีครูฝรั่งคนหนึ่งลองใช้แล้วได้ผลดี อีกอย่างที่จะลองทำคือการให้เด็กได้นั่งตามลมหายใจสัก ๕ นาทีก่อนเริ่มเรียน
อีกประเด็นที่ลป.เน้นคือเรื่องการเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง (Inter-being) เช่น ในร่างกายเรามีพ่อและแม่ของเราอยู่ น้ำชามาจากสายฝนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นก้อนเมฆ ไม่มีการเกิดจากความไม่มี ไม่มีการตายแบบดับสูญ มีแต่การแปรสภาพ เราเป็นมากกว่าร่างกายของเรา ถ้าคิดว่าลป.เป็นแค่ร่างที่เราเห็นนั้น อันนั้นผิด ลป.อยู่ในงานเขียน อยู่ในลูกศิษย์ อยู่ในภาพวาด...
หนนี้ก็เป็นหนแรกที่ฉันฟังท่านบรรยายเรื่องมรรค ๘ ซึ่งไม่สามารถสรุปสั้นๆ ได้ คงต้องไปฟังกันเอง ที่ YouTube นี้
ที่มาของชื่อ Retreat ว่าเป็น Applied Ethics ก็เพราะท่านอยากให้เรื่องการฝึกสติเป็นเรื่องสากล ไม่เกี่ยวกับศาสนา และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้จริง
ลงท้ายด้วยคำพูดของท่านที่ฉันชอบมากคือว่า Patience is the mark of true love. นึกถึงความรักของพ่อแม่เราเอง ที่ผ่านมาฉันคงไม่ค่อยรักจริงสักเท่าไหร่ เพราะความอดทนต่ำ
Comments