พลังศรัทธาที่ลังกา

พระพุทธรูปที่บ้านโยมที่ Colombo
ไปศรีลังกาแบบมีไกด์ท้องถิ่น จึงไม่ได้วางแผนอะไรมากนัก และไม่ได้คาดหวังอะไร  สิ่งที่ประทับใจที่สุดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นศรัทธาของคนพุทธที่นี่  เค้าเป็นพุทธแบบเถรวาทเหมือนเราและพม่า  ลังกาคล้ายพม่าตรงที่ผูกพันกับศาสนาพุทธมากๆ  ใช้วัดเพื่อภาวนา มีคนมาสวดมนต์ นั่งฟังธรรมกันในวัด เวลาพระเทศน์ก็เห็นตั้งใจฟัง ไม่คุยแข่งกับพระ  แต่ก็ได้พบพระฝรั่งที่บวชที่เมืองไทยบอกว่าพระที่ลังกาส่วนใหญ่ศึกษาปริยัติ อย่างมากโยมก็อ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ อ่านพระไตรปิฎก แต่ไม่เน้นเรื่องการภาวนา  เราเลยถามว่าแล้วศรัทธามาจากไหน ท่านว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรม

มีพระฝรั่งอยู่ลังกามาเนิ่นนาน ทำประโยชน์ในการตั้งวัดและเผยแพร่พุทธศาสนาด้วยภาษาอังกฤษมหาศาล หนังสือธรรมะทั้งในภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษราคาถูกมาก คุณภาพก็ดี องค์กรสำคัญคือ Buddhist Publication Society ที่ Kandy

สังคมลังกาไม่ยอมรับพระที่สึก (ก็มีที่ลาสิกขา แต่แอบๆ ไปทำที่ประเทศอื่น) ฉันก็เลยว่าทำให้คนเคารพพระมากๆ พระไม่ต้องบิณฑบาตก็ได้ โยมก็เอาข้าวมาส่ง ขนาดอยู่เกาะก็เอามาถวาย  เค้าดูแลพระกันดีมาก ที่สถานีรถไฟก็มีห้องให้พระนั่งก่อนขี้นรถไฟ ใส่บาตรกันอย่างตั้งใจ เด็กๆ เจอหน้าพระก็เข้ามากราบเอง พระมาที่บ้านก็ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นและเช็ดเท้าให้ก่อนเข้าบ้าน ที่บ้านก็จะปูผ้าขาวบนโซฟาสำหรับพระ

Cave painting at Sigiriya
แต่ทีนี้ข้อเสียของการไม่ยอมรับพระสึกก็มี พระสึกไม่ได้ก็อึดอัด ก็ไปทำอะไรที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เช่น มีพรรคการเมืองพระ และมีพระในสภาผู้แทนฯ

แล้ว Feminist อย่างฉันก็ชอบมากที่ลังกามีภิกษุณีมานาน Yeah! ภิกษุณีหลายรูปที่เมืองไทยบวชจากลังกา

ฉันชอบชุดขาวของเค้า เวลาไปวัดหรือมีงานบุญ แต่งขาวทั้งหญิงและชาย ผู้ชายใส่โสร่งบ้าง กางเกงบ้าง ผู้หญิงก็มีกางเกง แต่ที่พิเศษคือกระโปรงเอวยางยืด สีขาวบานๆ ฉันไม่เคยใส่ชุดขาวทั้งชุดที่เมืองไทย ยังได้แรงบันดาลใจจนใส่บ้างที่นี่ (อยู่เมืองไทยไม่ใส่เพราะดูเป็น"คนเข้าวัด" มากเกินไป เหมือนพะยื่ห้อคนดี) ใส่แล้วรู้สึกดี เราต้องสำรวมกว่าเดิมไม่ให้ชุดเลอะ แล้วกระโปรงบานๆ ก็ดีตรงที่ลุกนั่งสบาย ไม่โป๊ แล้วก็ให้เกียรติสถา
นที่ด้วย

คนที่นี่เค้ากราบพระแบบแทบเท้ากัน แม้กระทั่งพื้นถนนทางเท้า ตอนแรกๆ ที่เห็น ฉันอัศจรรย์ใจมาก พอผ่านไปเริ่มชิน จนกระทั่งวันสุดท้ายก็ทำได้ด้วย เดิมไม่เคยคิดจะกราบบนพื้นที่คนเดินใส่รองเท้า แต่ที่สนามบินก็ลาพระศรีลังกาผู้ที่ดูแลเรามาตลอดทริปแบบนั้น ก็รู้สึกดีที่ความอหังการลดลง ตัวตนปกติของฉันไม่เด่นเรื่องศรัทธานัก บางทีถึงกับคิดว่าความศรัทธาใกล้เคียงกับความงมงาย แต่ทีนี้พอศรัทธาน้อยมันก็ทำให้เราสงสัยมาก เชื่อตัวเองเยอะเกินไป

อีกส่วนหนึ่งที่โอหังน้อยลงคงเป็นเพราะเราได้รับความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นที่เราไม่รู้จักกันมาก่อนเยอะมาก มากจนรู้สึกขอบคุณและ Grateful ที่ได้เป็นส่วนร่วมในการสร้างบุญกุศลของเขา  ฉันได้พักบ้านดินในชนบท ที่ไม่มีไฟ ห้องน้ำอยู่ด้านนอกบ้าน  ฉันลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางคืน เจ้าของบ้านผู้หญิงเดินไปเป็นเพื่อนด้วย  ตอนค่ำอาบน้ำบ่อ เค้าก็มาดูแล เอาขันมาให้ ตักน้ำให้ พระลังกาบอกว่าคนที่หมู่บ้านชนบทนั้นไม่มีเงิน แต่มีอาหารเยอะ เค้าอยากเลี้ยงดูเรา (จริงๆ คงอยากดูแลพระไทยนั่นแหละ)  มีหลายๆ มื้อที่เราไปพักบ้านโยมอื่นๆ ค่ำแล้วเค้าก็ยังจะทำอาหารให้กิน พระลังกาสั่งว่าถ้าเค้าทำให้ ต้องกินนะ ก็เลยเป็นความทรมานที่ต้องกินเพื่อเอาใจเจ้าบ้าน

ข้าวก้อน


อาหารบิณฑบาต พระให้ยืมฝาบาตรเพราไม่มีจาน
พูดถึงเรื่องกิน คนที่นี่กินเพื่ออยู่จริงๆ อาหารเป็นมังสวิรัติเป็นหลัก  พื้นฐานคือข้าวแกง Dal ที่เป็นถั่่ว Lentils มีทุกมื้อ โปรตีนจากถั่วเป็นหลัก ส่วนที่หมุนไปมาก็มียำมะพร้าวขูด แกงขนุนอ่อน แกงรสชาติดีกว่าอินเดีย กว่าพม่า  เพราะเรากินอาหารบิณฑบาตซะส่วนใหญ่ ก็เลยได้กินอาหาร Homemade  ที่ชอบมากคือข้าวสวยมูนกะทิ เสริฟเป็นก้อนสีเหลี่ยมเหมือนขนมไทยแบบถาดๆ เค้ากินข้าวด้วยมือ ช้อนส้อมก็มีแหละแค่ถ้าทั่วไปแล้วกินมือ กินข้าวสวยด้วยมือต้องใช้ทักษะพอสมควร ก็ดี ทำให้กินอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ข้าวหกมาก  แล้วผลไม้ที่แปลกคือ King coconut น้ำไม่อร่อยเท่าไหร่ มีเนื้อไม่มาก แต่ฉันชอบน้ำมะพร้าว มาแบบไหนก็กิน ส่วนขนมลังกาฉันเฉยๆ มีโยเกิต นม ไอศครีมให้กินเยอะ คงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนด้วย


King Coconut

Comments