Evening puja at Sule Paya, Yangon |
ตั้งแต่ฉันไปพม่าเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน ฉันก็สังเกตเห็นแล้วว่าคนพม่าเค้าใช้พื้นที่วัดต่างจากเรา คือ เค้าก็ยังคงไปทำบุญที่วัดเหมือนเรา แต่เค้าใช้มันมากกว่านั้น คือ เพื่อการสวดมนต์และการภาวนาในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว บางที ก็เห็นถือปิ่นโตมานั่งล้อมวงกินข้าว มานอนพักตอนบ่าย มานั่งคุยกันฉันเพื่อน ฉันแฟน ด้านหน้าพระพุทธรูป มีลูกประคำสาธารณะและหนังสือสวดมนต์ให้คนทั่วไปใช้ บางทีก็มีแผ่นไม้ (คล้ายๆ pallet ที่เอาไว้วางของตามโกดัง) เพื่อเอาไว้นั่งภาวนา จะได้ไม่เย็นก้น และไม่สกปรก วัดส่วนใหญ่ปิดค่ำ เช่น ชเวดากองปิดสี่ทุ่ม นอกจากนักท่องเที่ยว ก็มีคนมาภาวนากันมาก และอีกที่หนึ่ง Botataung Paya ("Paya" แปลว่า Buddha) ที่เราไปตอนค่ำ มีการสอนธรรมะด้วย ที่ย่างกุ้งและมันฑะเลย์ดูมีบรรยากาศการภาวนาหนาแน่นกว่าเมืองอื่นๆ ที่เราไป
Fragrant mala |
Evening chant at Sule Paya, Yangon |
ใจฉันๆ ชอบให้เด็กมีวินัย การมีอิสระเสรีมันก็ดี แต่คนเราจะอิสระได้จริง ต้องเข้มแข็งพอ ไม่งั้นจะเป็นลูกแหง่ตลอดไป ฉันว่าเด็กสมัยนี้โดนตามใจ เลยทำให้ใจเสาะ อ่อนแอ ท้อแท้...
ที่พม่า พระและเณรจะทำวัตรเช้าตอนตีสี่ถึงสี่ครี่ง แล้วฉันเช้าประมาณตีห้าหรือหกโมง อาหารเช้าก็จะเป็นข้าว กับเล็กน้อย (ที่ย่างกุ้งดูมีอาหารมากกว่าที่อื่นๆ) แล้วจะออกบิณฑบาต บางวัดก็จะออกพร้อมกันเป็นแถวยาว บางวัดก็จะทยอยกันออกไป อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตสำหรับเพล (อาหารเที่ยง) พระพม่าบางรูปถือพัดไว้กันแดดด้วย
พระบางรูปจะมีบ้านประจำที่ท่านจะไปรับอาหาร โดยชาวบ้านจะนิมนต์ให้ท่านเข้าบ้าน ไปนั่งรับอาหาร (รับมาฉันที่วัด) พระใหม่ๆ จะยังไม่มีบ้านประจำ ต้องมาบิณฑบาตประจำจนชาวบ้านคุ้นเคยและนับถือ จึงจะได้รับนิมนต์เป็นพระขาประจำ
พระท่องหนังสือ ที่วัด Kha Khat Wain |
วัดที่ Inle Lake ที่อยู่บนน้ำ พระไม่ต้องไปบิณฑฯ โยมเอามาถวายเอง
เท่าที่เราถาม พระและแม่ชีที่พม่าจะแยกกันอยู่คนละวัด (ของแม่ชีเรียก Nunnery) บางทีก็รั้วชนกันกับวัด ที่อินเล เราได้พักกับแม่ชี แม่ชีที่นี่บิณฑบาตด้วย แต่ใช้หม้อมีหูแทนบาตร แม่ชีที่นี่ไม่นุ่งขาว แต่จะมีหลายเฉดสี เช่น ชมพู น้ำตาล แกมเหลืองก็มี โดยเค้าให้เหตุผลว่าต้องการแยกแยะจากพวกฤาษี (Hermits) บางพวกที่นุ่งขาว และพวกเตรียมบวชพระที่เรียกว่า อนาคาริก (Anakariga) ด้วย
แม่ชี, Sirium |
ความสัมพันธ์ระหว่างโยมและพระในพม่าคล้ายๆ ในไทย เพราะเราเป็นเถรวาทเหมือนกัน เช่น โยมยังให้ความนับถือพระอยู่มาก เวลาคุยกับพระก็พนมมือ เวลาเดินผ่าน ก็ยอบตัวลง พระและโยมกินข้าวกันคนละโต๊ะ แต่ก็มีข้อแตกต่าง เช่น โยมผู้หญิงสามารถยื่นและรับของจากมือพระได้เลย สามารถนั่งติดกับพระได้
ที่พม่านี้ มีพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกได้อยู่ ๑๒ รูป (ตอนนี้เหลือ ๖) "ทรง" คือ ทรงจำได้ทั้งหมด ฉันเพิ่งรู้ว่าภาษาบาลี (ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฏก) มีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ดังนั้นการสืบทอดจึงต้องใช้การท่องจำ ส่วนการบันทึกเป็นตัวเขียนจึงใช้ภาษาท้องถิ่น เช่น ไทย พม่า
ที่ห้องพักของเณรใหญ่ |
Comments