Incredible India Indeed (Part II)

ฉันก็เหมือนคนไทยทั่วไปที่เป็นห่วงเรื่องกินและเรื่องถ่ายในช่วงที่อยู่อินเดีย  เรื่องกินน่ะไม่กังวลเท่าไหร่เพราะก็ชอบอาหารอินเดียอยู่ และได้กินเป็นครั้งคราวที่กรุงเทพฯ  (การกินอาหารฝีมือตัวเองเป็นสิบปีตอนอยู่อเมริกาทำให้ฉันกินอะไรก็ได้ทั้งนั้น)  ส่วนเรื่องถ่ายก็กลัวส้วมจะน่าสยองเกินรับ  แต่ปรากฎว่าเรื่องส้วมไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับฉัน  (ฉันไป Delhi, Agra and Jaipur)  คือมันก็ไม่เริ่ดเหมือนอยู่บ้าน แต่มันก็เข้าได้ สมมติฐานของฉันคือคำนิยามของ"ความสะอาด"อาจจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ก็เลยไม่คิดมาก เข้าๆ ไปเถอะ อั้นไว้อันตรายกว่า แต่ฉันก็เตรียมผ้าถุงไปด้วยเพื่อความชัวร์ เผื่อต้องปล่อยกลางทุ่ง ระหว่างเมืองก็มีร้านอาหารข้างทางและปั๊มน้ำมันให้เข้าได้ แต่ใช้เวลาสักพักกว่าจะหาเจอ ฉันอาจโชคดีที่ยังไม่ไปบ้านนอกมากก็ได้  ทั้งนี้ฉันก็ได้เห็นสิ่งที่เค้าร่ำลือกัน: คนถ่ายข้างถนนที่ Jaipur  ดูเหมือนว่าการจราจรที่พลุกพล่านจะไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการประกอบกิจอันนี้ของเด็กคนนี้  เด็กดูออกจะ enjoy มองคนผ่านไปผ่านมาด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องอาหาร ฉันว่าการปรุงไม่สกปรกหรอก เพราะเค้าก็ทำสดใหม่ (แป้งทอดหรืออบใหม่ และแกงก็ทำใหม่ โดยเค้าได้ทำถั่วให้สุกรอไว้ก่อน) และเนื่องจากอาหารเป็นมังสวิรัติ ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียจากเนื้อสัตว์แน่นอน สิ่งที่เป็นปัญหาคือการล้างจานต่างหาก  สิ่งที่เค้าเรียกว่าล้างจานคือการเอาจานจุ่มลงไปในถังที่มีน้ำ  และทำครั้งเดียว (เห็นกับตา ล้างกันจะๆ ที่หน้าตึกราชการแห่งหนึ่งในเดลลี)  ขนาดฉันไปมาหลายที่ เคยอ้วกและท้องเสียแค่ครั้งเดียวในชีวิต (Sadly, in Stockholm เพราะถั่วบางอย่าง) ที่เดลลีนี่เป็นครั้งที่สอง แต่ฉันว่ามันก็ทำให้สบายตัวดี  ฉันเลือกที่จะไม่กินยา ให้อ้วกและถ่ายให้หมดเลย เหมือนร่างกายต้องการขจัดพิษให้เร็วที่สุดทั้งบนและล่าง  สมุนไพรที่ช่วยแก้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ดีคือ ขมิ้นชัน มีคนบอกให้กินไปเลย ๖ เม็ดพอรู้ว่าฉันมีปัญหา  จึงควรพกเวลาไปเที่ยวด้วยอย่างยิ่ง

กำลังทอดขนมปังแบน (Chipati หรือ Poori?)
เสริฟพร้อมแกงถั่วและหัวไชเท้ากับผักดอง
อาหารเช้าราคา ๑๒ รูปี เติมแกงได้
อีกอย่างที่ฉันประทับใจในอินเดียคือความโบราณในบางอย่างของมัน เช่น ตาชั่งที่ใช้ชั่งผลไม้หรือผัก ยังเป็นแบบสองแขน ที่ใส่ของแขนหนึ่ง ใส่ก้อนน้ำหนักมาตรฐานอีกแขนหนึ่ง; เจ้าของวัวนำน้ำนมมาส่งตอนเช้าที่ร้านในเดลลี ก็มีนมพาสเจอร์ไรส์บรรจุกล่องขายน่ะนะ แต่ถ้าอยากได้สด ก็มีที่ตลาด; เค้ายังใช้สัตว์ลากขนสิ่งของร่วมถนนเดียวกับรถยนต์ สามล้อ เช่น ฉันเห็นอูฐลากเกวียนที่บรรทุกท่อยาว ๖ เมตร; เค้ายังใช้ขี้วัวเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม; วัวเดินเพ่นพ่านในตลาดในบริเวณเมืองเก่าของเดลลี กินเศษผัก เศษผลไม้; ไม่มีร้าน 7-11 (ฉันชอบเซเว่นนะ แต่บางทีมันก็ถี่เกิน); สาวอินเดียใส่ส่าหรี;  สำหรับฉัน อินเดียเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living museum) ในบางแง่ อินเดียคล้ายๆ กับคนแก่ที่มีบางส่วนต้องการทะยานไปข้างหน้าแต่มีสัมภาระรุงรังอยู่บนหลัง  (The so-called emerging economy)

ฉันชอบดูวิถีชีวิตคนเวลาไปเที่ยว เดินเล่นตาม Neighborhood ต่างๆ, ดูตลาด, กินอย่างที่ชาวบ้านเค้ากิน (ไม่ค่อยเข้าใจคนที่ไปต่างประเทศแต่ต้องกินอาหารไทย หรืออย่างน้อยอาหารจีน ยกเว้นกรณีผู้ใหญ่มากจริงๆ ที่ปรับตัวลำบากแล้ว)  ฉันไม่ชอบถ่ายรูปตัวเองกับป้ายหรือสถานที่เท่าไหร่  มันไม่เป็นธรรมชาติเวลาต้องเก็ก  ก็ยังชอบดูรูปตัวเองนั่นแหละ แต่มันก็เห็นหน้าตัวเองอยู่แล้วเวลาส่องกระจก ก็เลยเฉยๆ กับการถ่ายรูปตัวเอง.. (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไปเที่ยวคนเดียวบ่อย และก็ไม่สวยด้วยไง..)

สลัดผักพื้นๆ ทุกที่ใช้
น้ำมะนาวเป็นน้ำสลัด


ถึงแม้ว่าฉันจะเริ่มเบื่ออาหารอินเดีย แม้เพิ่งอยู่ไปแค่ ๗ วัน แต่ฉันชอบที่อาหารส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ฉันคิดว่าการกินแบบนี้มันดีกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของการแปลงพลังงานจากผืนดินไปสู่อาหารสำหรับมนุษย์ และในแง่จริยธรรมต่อสัตว์ เราบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ศีลห้าข้อที่หนึ่งซึ่งพื้นๆสุดแล้ว ว่าด้วยการไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิต แต่การเป็นมังสวิรัติในประเทศนี้ต้องอาศัยความตั้งใจมั่นและการวางแผนอย่างมาก เคยเดินไปโรงอาหารที่มหาวิทยาลัยแล้วไม่รู้จะกินอะไรดี ก็ได้แต่ผัดผัก ผลิตภัณฑ์ไข่ ส้มตำ (หรือเป็นกิเลสฉันเองที่ยังไม่พอ...)

คนมาส่งนมที่ร้านทำชีสนิ่ม

พูดถึงเรื่องพฤติกรรมต่อสัตว์ ฉันว่าคนอินเดียปล่อยให้มันอยู่ในชีวิตพวกเขาโดยไม่ทำร้ายมัน ฉันไม่แน่ใจว่าเค้าดูแลมันเป็นพิเศษหรือเปล่า แต่มาที่อินเดียนี่ ฉันเห็นสารพัดสัตว์เลย นกแก้ว ลิง นกยูง เหยี่ยว อูฐ ม้า ว้ว หมา ควาย ช้าง กระรอก (ไม่นับสัตว์พื้นบ้าน เช่น แมลงสาบ) ทั้งๆ ที่ฉันก็ไม่ได้ไปป่าหรือสวนสัตว์ที่ไหน คำอธิบายส่วนตัวของฉันคือว่า เป็นเพราะศาสนาฮันดูที่มีสัตว์หลายๆ ตัวเป็นเทพ เช่น หนุมานเป็นลิง วัวเป็นพาหนะของพระศิวะ หนูเป็นพาหนะของพระพิฆเณศซึ่งก็เป็นครึ่งช้าง เต่าเป็นพาหนะของเทพแห่งแม่น้ำยมุนา จรเข้เป็นพาหนะของเทพแห่งแม่น้ำคงคา (Ganges River) การบูชาเทพก็คือการไม่ทำร้ายเพื่อนร่วม species ของเทพเหล่านั้น ด้วยการกินหรือการทำร้ายอื่นๆ
ม้าลากเกวียนขนของบนถนน
น่าทึ่งมากที่มันไม่เมาควันรถ

ส่วนเรื่องที่ไม่ชอบเกี่ยวกับอินเดียเหรอ..ฝุ่น..(เดาผิดว่าฉันจะตอบว่าแขก  คนอินเดียที่ฉันได้พบใช้ได้เลย  พูดจารู้เรื่อง โดนโขกเรื่องราคาอาหารไปหนหนึ่ง แต่ก็ได้ประสบการณ์ว่า ก่อนสั่งอาหารควรดูราคาจากเมนูก่อน) เดลลีมีต้นไม้ใหญ่ๆ เยอะมาก (สิงคโปร์ก็เยอะ เลยสงสัยว่ากรุงเทพทำไมไม่มี?) แต่ใบถูกเคลือบไปด้วยฝุ่น.. ไม่เข้าใจว่าฝุ่นมาจากไหน  ได้ยินว่า Rajasthan มีทะเลทรายแห่งเดียวในอินเดีย แต่มันก็ไม่ได้ใกล้เดลลีขนาดพัดมาถึงได้  ฉันแคะขึ้มูกออกมาดำปี้ด...

อย่างที่สองที่น่ารำคาญ แต่ไม่ถึงกับเกลียด คือ เสียงแตรและการจราจรที่ติดขัดมากกก  เค้าสนับสนุนให้บีบแตร  ท้ายรถใหญ่ๆ เขียนว่า Blow horn please.  เป็นการส่งสัญญาณกันว่าข้ามาแล้วนะ แล้วคนไทยกลายเป็นชนชาติที่เคารพกฎจราจรไปเลยเมื่อเทียบกับคนอินเดีย  ฉันเคยรำคาญกับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งย้อนศรบนถ.บางนาตราด แต่นี่เจอรถบรรทุกหกล้อวิ่งย้อนศรมาบนถนนไฮเวย์! (ข้างละสองเลน มีเกาะกลาง) ฉันสงสัยว่าเค้าจะจับกันด้วยข้อหาใด  อ้อ..อ่านจากนิตยสารข่าวของฝรั่ง เค้าบอกว่าระบบศาลและราชการของอินเดียก็มีคอรัปชั่นมากเหมือนกัน

ฉบับหน้าไม่รู้จะเป็นเรื่องอินเดียหรือไม่ ฉันเป็นพวกมีอะไรหลายอย่างที่อยากทำ มากกว่าเวลาที่ตัวเองมี ก็ค่อยๆ จัดสรรทำโน่นนี่นั่นไป คิดว่าควรจะเล่าเรื่องสถานที่ๆ ตัวเองได้ไปมา พวก UNESCO World Heritage Sites ทั้งหลาย และเมืองที่ไปมา ปกติเป็นพวกความจำเสื่อม บางทีจำไม่ได้ว่าเคยไปมาแล้ว ขนาดยังไม่ตายแล้วเกิดใหม่นะนี่

Comments