ระนาบนี้มีที่ให้ฉันยืน (Part 2)

เล่าเรื่องงานภาวนา Peaceful Mind, Open Heart ของหลวงปู่ Thich Nhat Hanh ซึ่งฉันจะเรียกท่านว่า Thay ตามลูกศิษย์ท่าน เพราะพิมพ์ง่ายกว่า เล่าต่อจากโพสต์ที่แล้ว

ทุกๆ เช้า ตอนหกโมง พวกเราจะมานั่งภาวนาร่วมกันประมาณครึ่งชั่วโมงถึงสี่สิบนาที ประทับใจที่ Thay มานั่งรอเราอยู่ก่อนแล้วแทบทุกวัน ทั้งๆ ที่ฉันมาก่อนเวลา  จากนั้น ก็จะเดินร่วมภาวนาร่วมกัน การเดินจะจบลงด้วย Thay มานั่งตรงกลางสนามหญ้า ใต้ร่มไม้  แล้วพวกเราก็ทยอยกันมาถึง แล้วก็นั่งล้อมเป็นวงกลม  อย่างเงียบๆ  วันแรกๆ ฉันก็ดูคนโน้นคนนี้  วันหลังๆ ฉันก็เลิกสนใจชาวบ้าน นั่งชมท้องฟ้า ชมต้นไม้ นั่งภาวนาแทน  ฉันชอบที่ท่านรอให้พวกเรามาจนครบ เหมือนว่ามาด้วยกัน ไปด้วยกัน  อ้อ ท่านจะเดินจูงมือเด็กๆ เดินด้วย ก่อนจะแยกจากกันไปกินข้าวเช้า  ท่านหันมาหาเด็กๆ จับตัวให้ล้อมเป็นวงกลม แล้วท่านและเด็กๆ พนมมือไหว้ซึ่งกันและกัน  เป็นภาพที่ประทับใจฉันมาก  ผู้ใหญ่ไหว้เด็กก็หายากมากแล้ว  แต่นี่ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์มากมาย Bow to kids!  มีคนแปลให้ฟังว่า มือที่พนมแทนดอกบัว และเราเคารพธรรมชาติหรือเมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้ที่อยู่ในกันและกัน (Awakening nature within us)
ท่านเตรียมไมค์เพื่อเทศน์

จากนั้น เรามาพบท่านเพื่อฟังเทศน์ตอนเก้าโมงครึ่ง  โดยช่วงแรกจะมีเด็กๆ นั่งประชิดติดเวที  ท่านเทศน์สอนเด็กโดยเฉพาะประมาณยี่สิบนาที (แล้วเด็กก็จะแยกออกไปกับพี่อาสา) สอนแบบฝึกหัดการภาวนาง่ายๆ เช่น การเชิญระฆัง (Inviting the bell) เค้าไม่ใช้คำว่า"เคาะระฆัง" (Striking the bell) หรือ "ตีระฆัง" (Hitting the bell)  ส่วนผู้เชิญระฆังนั้นมีตำแหน่งเก๋ๆ ว่า Bell Master แล้ว Thay ก็ให้เกียรติผู้เชิญระฆังมาก เอ่ยชื่อและประเทศที่มาทุกครั้ง  นักบวชที่นี่เค้าเรียก Monastics ก็มีชื่อทางธรรมเพราะๆ ทั้งนั้น เช่น Peach Blossom ฉันก็มักตั้งใจรอฟังว่า เอ๊...วันนี้ท่านจะชื่ออะไรกันบ้างน้า...

นอกจากการเชิญระฆังแล้ว วันอื่นๆ Thay ก็สอนเด็กๆ เรื่อง Pebble Meditation โดยให้ใช้ลูกหินสี่ลูก ให้เด็กหยิบขึ้นมาทีละลูก วางบนฝ่ามือ แล้วพิจารณาว่าแต่ละลูกแทนความหมายต่างๆ: Flower (ซึ่งเป็นตัวแทนของ freshness), Mountain (solidity, stability), Calm and still water (reflexivity: seeing things as they are), and space (peace, freedom).  เพิ่งสังเกตว่าเพลงหนึ่งที่เราร้อง ก็ใช้ Metaphors เหมือนกันนี้

Breathing in, Breathing out

Breathing in, breathing out
I am blooming as a flower
I am fresh as the dew
I am solid as a mountain
I am firm as the earth
I am free.
Breathing in, breathing out
I am water reflecting
What is real, what is true.
And I feel there is space
Deep inside of me.
I am free, I am free, I am free.

ส่วนอีกหนึ่ง Exercise สำหรับเด็กว่าด้วยเรื่อง The two promises ซึ่งเป็นเพลงด้วย เค้าร้องว่า...

I vow to develop understanding, in order to live peacefully with people, animals, plants and minerals. (ถ้าเป็นเพลงจะมีเสียงต่อว่า Umm, ha, Umm, ha, Umm ha ซึ่งฉันชอบเสียงตรงนี้มากกกก โล่งสบายอะไรจะขนาดนั้น!)
I vow to develop my compassion, in order to protect the lives of people, animals, plants and minerals. (Umm, ha, Umm, ha, Umm ha)

Thay เทศน์เป็นภาษาอังกฤษ แล้วหลวงพี่นิรามิสา (นิร + อามิส ผู้ไม่ติดในเหยื่อล่อของวัตถุทางโลก) แปลเป็นไทย วันแรกๆ เสียง Thay เบามาก แต่วันหลังๆ ฉันได้ฟังท่านตรงๆ มากขึ้น อาจเป็นเพราะเสียงท่านถูกปรับให้ดังขึ้น, ฉันชินกับสำเนียง, และใจฉันพร้อมมากขึ้น  แล้วถ้าหลงไป หลุดไป ก็อาศัย Thai translation ช่วย

ยิ่งฟังท่านเทศน์แล้ว ยิ่งรู้สึกว่าท่านมีบารมีทางการสั่งสอนมากๆ  ถ้าท่านไม่พูด ท่านก็ดูเป็นคุณตาแก่ๆ ที่สงบ ใจดี  แต่พอท่านเทศน์  ท่านเหมือนเป็นอีกคน มีเสน่ห์ จับตา มีอารมณ์ขัน คิดดู คนฟังเป็นพัน จะตรึงความสนใจคนมากขนาดนั้น ต้องไม่ธรรมดา  มุขท่านบางทีก็ตรงๆ บางทีก็เป็น Educated jokes เช่น ตอนพูดถึงเรื่อง Non-duality ของความทุกข์และความสุข ท่านว่า It is with sufferings, you can create happiness.  นอกจากนี้แล้ว ท่านยังว่า To be or not to be, that is not a question. ซึ่งล้อ Shakespeare's famous quote ที่ว่า To be or not to be, that is the question.

อาจเป็นเพราะท่านอยู่ฝรั่งเศสนานมาก (กว่า ๔๐ ปี) ท่านเข้าใจและเข้าถึงคนที่ผ่านการศึกษาแบบตะวันตก และการสอนของท่านเข้าถึงประเด็นปัญหาที่คนเหล่านี้มี คือ พวกนี้ (เช่น ฉันเป็นต้น) ทุกข์เพราะความคิด  คนในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือชนชั้นกลางทั่วไป ไม่ได้ทุกข์จากเรื่องไม่มีจะกินหรือความลำบากทางกาย แต่ทุกข์เรื่อง Relationship ทั้งหลาย ทั้งต่อตัวเอง และกับคนอื่นๆ  ฉันคิดว่าที่คำสอนของท่านเป็นที่นิยมมากในโลกตะวันตกและกับคนรุ่นใหม่ในไทย เพราะท่านตีประเด็นปัญหาได้ถูกจุดตรงนี้ นอกเหนือไปจากความเป็นกวีและภาษาสวยๆ ของท่านแล้ว  ธรรมเทศนาของท่านสามารถถอดเสียงแล้วพิมพ์เป็นหนังสือได้เลย  การคัดสรรคำที่ใช้และการลำดับความนี่สุดยอดมาก: กระชับ เข้าเป้า ได้ความ.  ความคิดเป็นระบบขณะเทศน์แบบนี้ทำให้ฉันนึกถึงท่านปยุต (พระพรหมคุณาภรณ์) ขนาดไม่มีสไลด์ช่วยนะนี่  ส่วนความสวยของภาษาทำให้ฉันนึกถึงท่านเขมานันทะ (อ.โกวิท เอนกชัย)  อ้อ Thay ใช้กระดานด้วย

ฉันจะข้ามเรื่องที่ท่านสอน เพราะอาจจะถ่ายทอดได้ไม่ดี และก็มีหนังสือท่านเยอะแยะ ก็ไปหาอ่านเอาเองละกัน  จริงๆ ก็ฟัง MP3 จากเว็บท่านก็ได้   สรุปว่า ในงานภาวนี้ ท่านสอนจากเรื่องพื้นๆ ไปถึงเรื่องซับซ้อนในเวลาห้าวันๆ ละสองชั่วโมง  พระที่ไปงานภาวนาสำหรับนักบวชที่ท่านสอนที่ปากช่อง บอกทำไมสอนนักบวชแค่วันละชั่วโมงเอง ฉันบอก ก็ฆราวาสกิเลสเยอะนี่คะ  ต้องกระเทาะมากหน่อย  อ้อ แล้วท่านเทศน์ให้นักบวชฟังเป็นภาษาเวียดนาม (เพราะมีพระเวียดนามกว่าค่อน) แล้วมีคนแปลเป็นไทย  ฉันชอบฟัง Thay เทศน์โดยตรงไม่ผ่านล่ามมากกว่า  

Thay สอนตั้งแต่วิธีการวางใจตอนฟังเสียงระฆัง (I listen, I listen.  This wonderful sound brings me back to my home), อานาปานสติสูตร,  อริยสัจ (The Four Noble Truth), จนถึงเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน (at least in this lifetime) คือ Three doors of liberation (การหลุดพ้น) ก็จะเล่าเท่าที่จดมาก็แล้วกัน  ประตูสามทางนี้ประกอบด้วย
  1. Emptiness (สุญญตา) ความว่างซึ่งเป็นคำสอนที่เราคุ้นเคยจากที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึง
  2. Signlessness (อนิมิตตา--อะ + นิมิต): Beings are not limited in forms; Nature of no birth and no death, being and not being, no coming and no going, no sameness and no otherness.
  3. Aimlessness (อปนิหิตา) การไม่มุ่งหวังแม้กระทั่งการบรรลุธรรม
เรื่องสุดท้ายนี้จับใจฉันที่สุด  ท่านคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากในการเข้าใจ  ท่านเลยใช้ Prop ด้วย คือ ไม้ขีดไฟและกระดาษ  ใช้ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ให้เห็นภาพ เช่น การต่อเนื่องและการแปลงรูปของน้ำในรูปฝน-ไอน้ำ-น้ำชา

โพสต์อ้นต่อไป

Comments

YUI said…
ตามเข้ามาอ่านค่ะ พี่หญิง